Smile Cycling

ฝันเล็กๆ ในการเดินทางท่องเที่ยวด้วยจักรยาน

11 เทคนิค สิ่งที่ควรรู้สำหรับผู้ใช้กล้องดิจิตอล

ไม่มีความคิดเห็น

11 เทคนิค สิ่งที่ควรรู้สำหรับผู้ใช้กล้องดิจิตอล


สารบัญ ... บทความชุดนี้คัดลอกมาจากไฟล์ PDF ดาวน์โหลดมาจากอินเตอร์เนท  ... สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ... ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

... แต่ก่อนนั้น คนที่จะถ่ายภาพจริงๆ จังๆ มักจะต้องใช้กล้องแบบ SLR เป็นหลัก ส่วนกล้องแบบคอมแพคจะเป็นกล้องถ่ายภาพประเภทเล็งแล้วกดชัตเตอร์อย่างเดียว ทีเหลือจะปรับตั้งอะไรได้ไม่มาก นอกจากระบบแฟลชหรือระยะชัดที่สามารถปรับได้บ้างเล็กน้อย จนกระทั่งมีกล้องคอมแพคแบบ SLR ขึ้นมา กล้องคอมแพคจึงเริ่มมีระบบการทำงานหลากหลาย และสามารถปรับตั้งได้มากขึ้นเรื่อยๆ เข้าสู่ยุคดิจิตอลซึ่งกล้องดิจิตอลในช่วงแรกมีราคาสูงกว่ากล้องฟิล์มมาก ในจำนวนเงินเท่ากัน ผู้ซื้อกล้องสามารถซื้อกล้อง SLR คุณภาพสูงได้ 1 ตัวแต่กลับซื้อกล้องดิจิตอลคุณภาพล่างๆ ได้ 1 ตัวด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผู้ผลิตกล้องจึงพัฒนากล้องดิจิตอลแบบคอมแพคให้มระบบการทำงานเพียบเท่ากล้องฟิล์มที่มีระดับราคาใกล้เคียงกัน กล้องดิจิตอลคอมแพคปัจจุบันในระดับราคา 2 หมื่นกว่าบาท มีระบบปรับะระยะชัดต่อเนื่อง ถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้ 5 ภาพ/วินาที ถ่ายภาพซ้อน มีวัดแสงเฉพาะจุด และทำได้มากมายเช่นเดียวกับกล้องฟิล์มแบบ SLR ที่ระดับราคาใกล้ๆ กัน ดังนั้นเราคงจะไม่สามารถกล่าวว่า กล้องคอมแพคเป็นกล้องปัญญาอ่อน เพราะกล้องคอมแพคมีระบบประมวลผลที่ฉลาด ซับซ้อน สามารถใช้งานจริงจังก็ได้ หรือใช้ถ่ายภาพเล่นๆ สนุกๆ ก็ยังได้ในกล้องตัวเดียวกัน

     กล้องดิจิตอลแบบคอมแพคในระดับราคา 10,000 บาทกลางๆ ขึ้นไปจะมีระบบถ่ายภาพให้เลือกใช้งานเกือบครบ ทั้งระบบปรับตั้งเอง ระบบโปรแกรมชิฟ ชัตเตอร์อัตโนมัติ ช่องรับแสงอัตโนมัติ ระบบถ่ายภาพคร่อมอัตโนมัติ ปรับความชัดโดยผู้ใช้ วัดแสงเฉพาะจุด ซึ่งปกติระบบเหล่านี้จะมีในกล้องราคาแพงเท่านั้น ผู้ใช้สามารถใช้กล้องดิจิตอลคอมแพคถ่ายภาพได้ไม่น้อยหน้ามืออาชีพเท่าไร (กล้องมืออาชีพจะให้ภาพที่คมชัดรายละเอียดสูง และสีสันดีกว่ากล้องดิจิตอลคอมแพคเท่านั้น ส่วนลูกเล่นและระบบการทำงานแทบไม่ต่างกันแล้ว) หากผู้ใช้กล้องดิจิตอลคอมแพคสามารถเข้าใจระบบการทำงานของฟังก์ชั่นต่างๆ ในตัวกล้อง ก็สามารถถ่ายภาพได้ไม่น้อยหน้ามืออาชีพเช่นกัน

     สิ่งที่เป็นอุปสรรค์ในการถ่ายภาพสวยๆ จริงๆ อาจจะอยู่ที่ความไม่เข้าใจในการปรับตั้งกล้อง หรือคิดว่ากล้องตัวเองไม่น่าจะทำแบบโน้นแบบนี้ได้ ทั้งๆ ที่จริงแล้วกล้องสามารถทำได้มากมาย ต่อไปนี้เป็นเทคนิคการถ่ายภาพง่ายๆ โดยใช้กล้องดิจิตอลคอมแพคที่จะช่วยให้ผู้ใช้กล้องสามารถได้ภาพสวยงามดังใจมากยิ่งขึ้น

1. ถ่ายภาพกลางคืนให้ฉากหลังมีรายละเอียด

     ในการถ่ายภาพกลางคืนหรือในสภาพแสงน้อยมากๆ โดยปกติจะมีการใช้แฟลชเพื่อเพิ่มแสงให้กับวัตถุ ภาพที่ปรากฏออกมา ส่วนของวัตถุและบริเวณใกล้เคียงจะมีแสงที่พอดี ส่วนที่ไกลออกไปมักจะมืดมากจนมองไม่เห็นอะไรเลย ถ้าเป็นภาพที่เน้นตัววัตถุที่เป็นจุดสนใจเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นภาพที่ต้องการฉากหลังด้วย เช่น ภาพถ่ายคู่กับสถานที่ ภาพฉากหลังดำๆ คงไม่สวยและไม่สื่อถึงสิ่งที่เราต้องการบอกเล่าเท่าไรนัก

ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจาก เมื่อเราเปิดให้แฟลชทำงาน กล้องถ่ายภาพจะเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงเพื่อป้องกันการสั่นไหวของภาพ เมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง บริเวณด้านหน้าที่โดนแสงแฟลชจะมีความสว่างของแสงเพียงพอ แต่ที่ระยะไกลออกไป ปริมาณแสงแฟลชจะไม่เพียงพอเพราะอยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดแสง ที่ระยะไกลจึงมีแต่แสงธรรมชาติหรือแสงตามสภาพเป็นหลัก แต่การที่กล้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง ทำให้แสงธรรมชาติหรือแสงตามสภาพเข้ามาไม่เพียงพอ ทำให้ภาพฉากหลังดำ

ทางแก้คือ ต้องลดความเร็วชัตเตอร์ลงไปเพื่อให้เซ็นเซอร์สามารถเก็บแสงที่ฉากหลังได้เพียงพอ เราเรียกการใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ ร่วมกับแฟลชในการถ่ายภาพในที่แสงน้อยๆ หรือกลางคืนว่า Slow-sync สามารถปรับตั้งระบบ Slow-sync ได้โดยการตั้งระบบแฟลชไปที่รูปคนกับดาว หรือรูปสายฟ้ากับคำว่า Slow การใช้งานระบบ Slow-sync ผู้ถ่ายภาพจำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้องเพื่อมิให้ภาพสั่นไหวจากการใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ และไม่ควรให้จุดสนใจอยู่ห่างจากกล้องเกินระยะการทำงานของแฟลช (ถ้าเป็นกล้องคอมแพคที่มีแฟลชในตัว ระยะห่างจะไม่เกิน 2.5 เมตรโดยเฉลี่ย)


2. ถ่ายภาพในที่แสงน้อยไม่ให้ภาพสั่นไหว

ผู้ใช้กล้องดิจิตอลส่วนมากจะมีปัญหาภาพสั่นไหว โดยเฉพาะเมื่อถ่ายภาพในที่แสงน้อยๆ ทั้งนี้เนื่องมาจากเวลาอยู่ในที่แสงน้อย กล้องจะลดความเร็วชัตเตอร์ลงมาเพื่อให้ปริมาณแสงเพียงพอ การสดความเร็วชัตเตอร์ (เพิ่มเวลาเปิดรับแสง) ทำให้ภาพมีโอกาสสั่นไหวได้มากขึ้น ยิ่งแสงน้อยเท่าไร ภาพยิ่งมีโอกาสสั่นไหวมากขึ้นเท่านั้น ผู้ใช้กล้องสามารถสังเกตว่าภาพจะมีโอกาสสั่นไหวหรือไม่จากการดูค่าความเร็วชัตเตอร์ที่จอ LCD ของกล้อง หากความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่า 1/60 วินาที โอกาสสั่นไหวของภาพจะสูง และยิ่งซูมภาพมากเท่าไร โอกาสภาพจะสั่นไหวยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ปกติความเร็วชัตเตอร์ที่สามารถทำให้มือถือกล้องนิ่งได้จะอยู่ที่ 1/ทางยาวโฟกัสของเลนส์เทียบกับกล้องขนาด 35มม. เช่น ถ้าใช้กล้องคอมแพคดิจิตอลที่ขนาดเลนส์ 5.6 มม. เทียบเป็นกล้อง 35 ได้ทางยาวโฟกัส 50 มม. ก็ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/50 วินาทีขึ้นไป เป็นต้น

แต่ในสภาพแสงน้อยๆ โอกาสที่จะได้ใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงอย่างที่ต้องการเป็นไปได้น้อยมากๆ ดังนั้น ภาพจึงมีโอกาสสั่นไหวสูงเป็นพิเศษ ทางแก้ปัญหาจะมีอยู่ 2 แนวทางคือ

2.1. เพิ่มความไวแสง (ISO) ของกล้องให้สูงขึ้น เพื่อให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงขึ้น - ข้อดีคือ สามารถใช้มือถือกล้องถ่ายภาพได้ตามปกติ ใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงจับการคลื่อนไหวของวัตถุได้ เหมาะกับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวในที่แสงน้อยๆ - ข้อเสียคือ ภาพจะมีสัญญาณรบกวนสูงขึ้น ยิ่งเพิ่มความไวแสงยิ่งมีสัญญาณรบกวน ภาพจะขาดความคมชัด รายละเอียดหายไปบ้าง สีสันผิดเพี้ยนไม่อิ่มตัวนัก คุณภาพโดยรวมลดลง


2.2. ใช้ขาตั้งกล้อง ทำให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำได้โดยกล้องไม่สั่นไหว
- ข้อดีคือได้ภาพคมชัด สีสัน รายละเอียด และคุณภาพโดยรวมไม่ตกลงเหมือนการเพิ่มความไวแสง
- แต่ข้อเสียคือ ต้องพกขาตั้งกล้อง ซึ่งอาจจะเกะกะและสร้างความลำบากในการเดินทางอยู่บ้าง และไม่เหมาะกับการถ่ายภาพวัตถุที่เคลื่อนไหวให้หยุดนิ่ง

3. ถ่ายภาพเคลื่อนไหวให้ดูเคลื่อนไหว และภาพเคลื่อนไหวให้หยุดนิ่ง


ภาพถ่ายของมือใหม่ส่วนใหญ่ วัตถุที่เคลื่อนไหวมักจะคมชัดหยุดนิ่ง โดยเฉพาะถ้าเป็นการถ่ายภาพโดยใช้ระบบโปรแกรมอัตโนมัติ กล้องจะเลือกความเร็วชัตเตอร์สูงๆ ไว้ให้ตลอดเวลา ทำให้ป้องกันภาพสั่นไหวและช่วยให้ภาพเคลื่อนไหวหยุดนิ่งได้เป็นอย่างดี ภาพที่หยุดนิ่งกับภาพเคลื่อนไหวให้อารมณ์ภาพที่แตกต่างกันภาพหยุดนิ่งในบางครั้งจะดูตื่นเต้นเร้าใจ เช่น ภาพคนกระโดดค้างอยู่กลางอากาศ แต่บางครั้งอาจจะดูน่าเบื่อเช่น ภาพรถวิ่งบนถนนที่หยุดนิ่ง ดูแล้วไม่รู้ว่ารถกำลังวิ่งหรือจอดอยู่กับที่กันแน่ ภาพบางภาพจึงควรให้ดูเคลื่อนไหว และบางภาพควรให้ดูหยุดนิ่ง

การควบคุมการเคลื่อนไหวและการหยุดนิ่งของภาพควบคุมที่ความเร็วชัตเตอร์ ความเร็วชัตเตอร์สูง เช่น 1/1000 วินาทีทำให้วัตถุที่เคลื่อนไหวหยุดนิ่งได้มากกว่าความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ เช่น 1/4 วินาที แต่ถ้าวัตถุหยุดนิ่งและตั้งกล้องบนขาตั้งกล้อง ความเร็วชัตเตอร์จะไม่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของภาพแม้แต่น้อยในการใช้งาน หากวัตถุมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและต้องการให้วัตถุหยุดนิ่ง แนะนำให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจจะต้องมีการเพิ่มความไวแสงช่วยหากถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย หรือใช้แฟลชจับการเคลื่อนไหวของวัตถุก็ได้ แต่ถ้าวัตถุเคลื่อนไหวและต้องการให้ดูเคลื่อนไหว ให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ที่สุดเท่าที่สามารถทำได้

เพื่อความสะดวกในการถ่ายภาพ แนะนำให้ใช้ระบบ Shutter Puority , S หรือ TV กล้องจะตั้งขนาดช่องรับแสงให้อัตโนมัติ ส่วนผู้ใช้เลือกความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการ จะให้ความสะดวกในการถ่ายภาพเป็นอย่างมาก แต่ก็มีข้อควรระวังอยู่บ้าง เช่น ต้องดูว่ากล้องสามารถตั้งช่องรับแสงให้ได้หรือไม่ หากกล้องไม่สามารถตั้งช่องรับแสงได้จะมีคำว่า Over , Under,ลูกศรกระพริบ หรือตัวเลขช่องรับแสงกระพริบ แสดงว่ากล้องไม่สามารถปรับตั้งค่าแสงได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนความเร็วชัตเตอร์หรือความไวแสงให้สัมพันธ์กับปริมาณแสงในขณะนั้นด้วย

4. ถ่ายภาพให้ชัดตื้น ชัดลึก

ภาพที่มีจุดสนใจคมชัด และฉากหน้าและฉากหลังเบลอ เราเรียกว่าภาพชัดตื้น ส่วนภาพที่มีจุดสนใจคมชัดฉากหลังและฉากหน้าคมชัดเช่นเดียวกัน เราเรียกว่า ภาพชัดลึก ภาพชัดตืนจะทำให้วัตถุที่เป็นจุดสนใจดูโดดเด่นออกจากฉากหน้าและฉากหลัง สามารถเน้นจุดสนใจได้เป็นอย่างดี มันจะใช้ในการถ่ายภาพบุคคลภาพมาโคร หรือภาพวัตถุในระยะใกล้ๆ

ความชัดตื้นและชัดลึกของภาพขึ้นกับปัจจัยหลายประการ คือ

4.1. ขนาดและความละเอียดของอิมเมจเซ็นเซอร์ กล้องที่ใช้อิเมเมจเซ็นเซอร์ขนาดเล็กจะชัดลึกมากกว่าอิมเมจเซ็นเซอร์ขนาดใหญ่
4.2. ทางยาวโฟกัสของเลนส์ เลนส์ทางยาวโฟกัสสั้นจะให้ความชัดลึกมากกว่าเลนส์ทางยาวโฟกัสสูง
4.3. ระยะชัด ภาพที่ถ่ายจากระยะไกลจะมีความชัดลึกมากกว่าภาพถ่ายในระยะใกล้
4.4. ขนาดช่องรับแสง ช่องรับแสงแคบให้ภาพชัดลึกมากกว่าช่องรับแสงกว้าง
4.5. ระยะห่างของฉากหน้าและฉากหลังกับจุดปรับความชัด ยิ่งฉากและฉากหน้าอยู่ห่างจากจุดสนใจเท่าไรฉากหน้าและฉากหลังจะยิ่งชัดตื้นขึ้นเท่านั้น
4.6. อัตราขยายภาพ ยิ่งขยายภาพมากเท่าไรความชัดลึกของภาพยิ่งลดลงเท่านั้น

การถ่ายภาพให้ชัดลึก ควรใช้เลนส์มุมกว้างและช่องรับแสงแคบ ถ่ายภาพจากระยะไกล ให้วัตถุมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก โดยปกติกล้องดิจิตอลแบบคอมแพคจะให้ภาพชัดลึกสูง จนกล้องบางรุ่นตั้งระยะชัดคงที่ยังให้ภาพชัดลึกตลอด ส่วนการถ่ายภาพให้ชัดตื้น ควรถ่ายภาพที่ระยะใกล้ ใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสสูง ช่องรับแสงกว้าง และให้ฉากหน้าฉากหลังอยู่ห่างจากแบบมากๆ

โดยปกติแนะนำให้ใช้ระบบถ่ายภาพแบบ A, AV หรือ Aperture Priority ในการควบคุมความชัดลึก หากต้องการภาพชัดตื้นให้เปิดช่องรับแสงกว้างๆ เอาไว้ก่อน ส่วนภาพที่ต้องการความชัดลึกให้เปิดช่องรับแสงแคบไว้ก่อน และพยายามควบคุมปัจจัยต่างๆ เช่น ทางยาวโฟกัสของเลนส์ ระยะชัด ระยะห่างของฉากหน้าฉากหลังให้เป็นไปตามทิศทางของความชัดลึกที่ต้องการ

อย่างไรก็ตาม บางครั้งเราอาจจะไม่ได้ชัดตื้นหรือชัดลึกอย่างที่หวังเอาไว้จากการควบคุมช่องรับแสงเพียงอย่างเดียว เพราะมีปัจจัยมากมายที่ควบคุมความชัดลึกของภาพอยู่ด้วย

5. ถ่ายภาพวัตถุขาวให้เป็นขาว

คนที่ใช้กล้องดิจิตอลแบบคอมแพค รวมถึงกล้องฟิล์ม และกล้องดิจิตอลแบบ SLR มักประสบปัญหาถ่ายภาพย้อนแสงแล้วฉากหน้ากับจุดสนใจกลายเป็นสีเข้มหรือดำ หรือถ่ายภาพที่มีส่วนขาวมากๆ เช่น ชายทะเล ฉากหลังเป็นกำแพงสีขาว ใส่ชุดสีขาว ฯลฯ แล้วภาพออกมามืดผิดปกติ


ปัญหาเกิดเนื่องจากพื้นฐานการทำงานของเครื่องวัดแสงจะพยายามปรับให้ภาพถ่ายที่ได้มีสีเป็นโทนกลางๆ เนื่องจากวัตถุที่เราถ่ายภาพส่วนใหญ่จะมีโทนสีหรือความสว่างระดับกลาง ไม่ได้เป็สีขาว หรือดำมากมายนัก ดังนั้น กล้องจึงปรับให้ภาพออกมาเป็นโทนสีและความสว่างระดับกลางเสมอ จะเกิดปัญหาในการใช้งานน้อยที่สุด แต่หากนำกล้องไปถ่ายภาพที่มีสีขาวมากๆ สีขาวจะถูกปรับให้มีความสว่างในระดับกลาง หรือเป็นสีเทานั้นหมายถึงว่า ภาพที่ถ่ายได้ มืดกว่าความเป็นจริง เราเรียกภาพที่มืดกว่าความเป็นจริงว่า ภาพอันเดอร์ (Under Exposure)

การแก้ไขภาพอันเดอร์ คือต้องเพิ่มค่าแสงที่ไปยังเซ็นเซอร์ให้น้อยลง ซึ่งมีแนวทางอยู่ 2 วิธีด้วยกัน


5.1. หากใช้ระบบถ่ายภาพอัตโนมัติ ได้แก่ A, S, P หรือระบบถ่ายภาพตามลักษณะภาพต่างๆ เช่น ระบบถ่ายภาพบุคคล ภาพทิวทัศน์ ฯลฯ ให้ใช้ระบบชดเชยแสง (Exposure Compensation) มักจะทำสัญลักษณ์เป็นเครื่องหมาย +/- ให้ปรับไปทาง + จะเป็นการเพิ่มแสงให้ภาพสว่างขึ้น

5.2. หากใช้ระบบถ่ายภาพแบบปรับตั้งเอง (M) ให้ปรับช่องรับแสงกว้างขึ้นจากที่วัดได้ หรือลดความเร็วชัตเตอร์ลดลงจากที่วัดได้ จะทำให้แสงเข้าไปยังอิมมเจเซ็นเซอร์มากขึ้น ภาพจะสว่างขึ้นไปด้วย

การจะชดเชยแสงมากหรือน้อยขึ้นกับความสว่างและพื้นที่ของส่วนขาวเป็นหลัก ให้ลองดูภาพที่ปรากฏบนจอ LCD จะง่ายที่สุด หากเก่งพอให้ดูกราฟ Histogram แล้วก็จะรู้ค่าชดเชยแสงที่ต้องปรับได้เลยทันที

6. ถ่ายภาพวัตถุดำให้เป็นดำ

นอกจากปัญหาเรื่องถ่ายภาพย้อนแสงหรือมีส่วนขาวมากๆ แล้วภาพมืดเกินไปแล้ว เครื่องวัดแสงยังมีปัญหาในการถ่ายภาพที่มีส่วยมืดหรือส่วนดำมากๆ แล้วภาพสว่างเกินกว่าความเป็นจริงด้วยเช่นกัน


ปัญหาเกิดเนื่องจากพื้นฐานการทำงานของเครื่องวัดแสงจะพยายามปรับให้ภาพถ่ายที่ได้มีสีเป็นโทนกลางๆ เมื่อนำกล้องไปถ่ายภาพที่มีสีดำหรือสีเข้มมากๆ สีดำจะถูกปรับให้มีความสว่างในระดับกลาง หรือเป็นสีเทา นั้นหมายถึงว่า ภาพที่ถ่ายได้ สว่างกว่าความเป็นจริง เราเรียกภาพที่สว่างกว่าความเป็นจริงว่า ภาพโอเวอร์ (Over Exposure)

การแก้ไขภาพโอเวอร์ คือ ต้องลดค่าแสงที่ไปยังเซ็นเซอร์ให้น้อยลง ซึ่งมีแนวทางอยู่ 2 วิธีด้วยกัน


6.1. หากใช้ระบบถ่ายภาพอัตโนมัติ ได้แก่ A, S, P หรือระบบถ่ายภาพตามลักษณะภาพต่างๆ ให้ใช้ระบบชดเชยแสง ปรับไปทาง (-) จะเป็นการลดแสงทำให้ภาพมืดลง

6.2. หากใช้ระบบถ่ายภาพแบบปรับตั้งเอง (M) ให้ปรับช่องรับแสงแคบลงจากที่วัดได้ หรือเพิ่มความเร็วชัตเตอร์สูงขึ้นจากที่วัดได้ จะทำให้แสงเข้าไปยังอิมมเจเซ็นเซอร์น้อยลง ภาพจะมืดลงไปด้วยการจะชดเชยแสงมากหรือน้อยขึ้นกับความมืดและพื้นที่ของส่วนมืดเป็นหลัก ให้ลองดูภาพที่ปรากฏบนจอ LCD จะง่ายที่สุด หากเก่งพอให้ดูกราฟ Histogramแล้วก็จะรู้ค่าชดเชยแสงที่ต้องปรับได้เลยทันที

7. ถ่ายภาพคนย้อนแสงให้หน้าไม่ดำ

เวลาหัดถ่ายภาพใหม่ๆ ผู้ใหญ่มักจะสอนว่า อย่างถ่ายภาพย้อนแสง ภาพจะไม่สวย หน้าจะดำ และภาพก็ออกมาเช่นนั้นจริงๆ ทำให้หลายคนฝังใจว่า ไม่ควรถ่ายภาพย้อนแสงเพราะหน้าจะดำ แต่จริงๆ แล้ว เราสามารถถ่ายภาพย้อนแสงให้หน้าไม่ดำได้ถึง 3 วิธีด้วยกันคือ


7.1. ใช้ชดเชยแสง เป็นวิธีเดียวกับการถ่ายภาพวัตถุขาวให้ขาว เมื่อถ่ายภาพย้อนแสงเท่ากับว่ามีส่วนขาวสว่างจ้าเข้ามาในภาพ กล้องจึงปรับส่วนขาวให้เป็นเทา ภาพจึงมืดลง หากต้องการให้หน้าไม่ดำ ให้ใช้ระบบชดเชยแสงไปทาง + หรือลดความเร็วชัตเตอร์ หรือเปิดช่องรับแสงกว้างขึ้นเพื่อให้หน้าขาวขึ้น แต่วิธีนี้ด้านหลังจะสว่างจ้ามากขึ้น จนอาจจะเกิดแสงแฟลร์แสงฟุ้งขึ้นในภาพได้

7.2. ใช้วัดแสงเฉพาะจุด วัดแสงที่หน้าแบบหรือจุดสนใจ จะทำให้ได้ค่าเปิดรับแสงที่แม่นยำ ไม่โดนส่วนขาวของท้องฟ้าหลอกเอาได้ หน้าจะขาวตามปกติโดยไม่ต้องชดเชยแสงใดๆ แต่ส่วนขาวในภาพจะสว่างจ้าเช่นเดียวกับการใช้ชดเชยแสง

7.3. ใช้แฟลชลบเงา เป็นการเพิ่มแสงที่หน้าของแบบหรือจุดสนใจโดยตรง ทำให้ความแตกต่างของแสงฉากหลังกับแสงที่จุดสนใจลดลง สมดุลของแสงระหว่างฉากหล้าและหลังจะดีขึ้น สามารถถ่ายภาพให้เห็นทั้งจุดสนใจ และมีฉากหลังที่สวยงามมีรายละเอียดได้ การใช้แฟลชลบเงาให้ตั้งแฟลชไว้ที่ ON หรือ ไว้ทีรูปคนแล้วมีดวงอาทิตย์ด้านหลัง ระยะห่างจากกล้องถึงจุดสนใจไม่ควรเกิน 2 เมตร หากเกินนั้นแสงแฟลชจะไม่เพียงพอที่จะสร้างสมดุลของแสงระหว่างฉากหลังกับจุดสนใจได้ วิธีนี้มีข้อดีคือ เห็นภาพชัดเจนไปทั่วทั้งภาพ แต่ข้อเสียคือ แสงจะดูกระด้าง ไม่เป็นธรรมชาติ


8. จุดสนใจไม่อยู่กลางภาพ แต่ภาพยังชัด

มือใหม่ส่วนใหญ่จะเล็งภาพที่ตรงกลางจอช่องมองภาพ เมื่อปรับความชัดภาพเรียบร้อยจะกดชัตเตอร์บันทึกภาพเลย ภาพส่วนใหญ่จึงมีจุดสนใจอยู่ตรงกลาง การที่นำเอาจุดสนใจไว้กลางภาพแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นบางครั้งจะทำให้ภาพดูนิ่ง ไม่สวย และดูน่าเบื่อง่าย ในขณะที่บางครั้งเราอาจจะอยากได้จุดสนใจไว้ที่ตำแหน่งอื่นๆ ภาพจะลงตัวมากกว่า แต่พอนำจุดสนใจไว้ส่วนอื่น ปรากฏว่า ภาพไม่ชัด


ปัญหาเกิดเนื่องจากกล้องจะปรับความชัดที่ตำแหน่งกลางภาพอยู่เสมอ ยกเว้นกล้องบางรุ่นที่มีระบบปรับความชัดแบบพื้นที่กว้าง กล้องจะหาตำแหน่งจุดสนใจอัตโนมัติ ซึ่งก็มีทั้งปรับความชัดได้ถูกต้องและปรับความชัดผิดพลาด

ทางแก้คือใช้ระบบล็อคความชัดในการล็อคระยะชัดเอาไว้ ซึ่งสามารถใช้ได้ในระบบปรับความชัดแบบทีละภาพ (Single AF) แต่ไม่สามารถใช้ในระบบปรับความชัดแบบต่อเนื่อง(Continue AF) ได้ วิธีการทำดังนี้

8.1. วางตำแหน่งจุดสนใจไว้กลางภาพ กดปุ่มกดชัตเตอร์ลงไปครึ่งหนึ่งเพื่อปรับความชัด กดปุ่กดชัตเตอร์ค้างเอาไว้อย่างนั้น อย่าปล่อยและอย่ากดลงไปสุด
8.2. จัดองค์ประกอบภาพใหม่ให้จุดสนใจไปอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ หรือให้ได้ภาพในมุมที่ต้องการ (ยังต้องกดชัตเตอร์ครึ่งหนึ่งค้างเอาไว้)
8.3. กดชัตเตอร์ลงไปสุด กล้องจะบันทึกภาพ จะได้ภาพที่จุดสนใจคมชัดแม้จะไม่ได้อยู่กลางภาพก็ตาม

9. ถ่ายภาพระยะใกล้

ดอกไม้สีสวยๆ กับวัตถุเล็กๆ ดูสวยงามมักจะเป็นจุดสนใจที่ดีเสมอ แต่ภาพทีได้มักตรงข้ามกับความน่าสนใจเป็นประจำ กล้องดิจิตอลคอมแพตจะมีระบบถ่ายภาพมาโครที่เป็นรูปดอกไม้ เมื่อเข้าสู่ระบบนี้กล้องจะสามารถปรับความชัดได้ใกล้ขึ้น ได้ภาพวัตถุที่มีขนาดใหญ่เต็มจอภาพ แต่ส่วนใหญ่มักมีปัญหา ภาพไม่ชัดเท่าไรนัก ปัญหาคือ บางคนเข้าใกล้เกินไปทำให้กล้องปรับความชัดไม่ได้ บางคนถ่ายไกลเกินไป ทั้งๆ ที่กล้องถ่ายภาพได้ใกล้มากๆ


การถ่ายภาพในระยะใกล้ให้ได้สัดส่วนภาพอย่างที่ต้องการนั้น ประการแรก ผู้ใช้กล้องควรรู้ว่ากล้องของตัวเองสามารถปรับความชัดได้ใกล้เท่าใด กล้องดิจิตอลคอมแพคมันปรับความชัดได้ไกลมากๆ ขึ้นกับระบบปรับความชัดที่ใช้งาน เช่น ระบบปกติถ่ายได้ใกล้สุด 60 เซนติเมตร ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการถ่ายภาพวัตถุเล็กๆ ให้ดูใหญ่ ระบบมาโครที่มักจะถ่ายภาพได้ใกล้ประมาณ 10-60 เซนติเมตร(ต้องดูข้อมูลจากคู่มือ) และระบบซุปเปอร์มาโครที่จะปรับความชัดใกล้มากๆ ประมาณ 3-20 เซนติเมตร

หากถ่ายภาพวัตถุที่มีขนาดเล็ก ผู้ใช้ต้องเข้าสู่ระบบมาโครก่อน จากนั้นประมาณระยะห่างจากวัตถุให้อยู่ในระยะชัดที่กล้องสามารถปรับได้ แล้วกดปุ่มกดชัตเตอร์เพื่อปรับระยะชัด ตำแหน่งที่ปรับความชัดควรเป็นตำแหน่งที่มีรายละเอียดสูง มีความแตกต่างของพื้นผิว มิเช่นนั้นกล้องจะปรับความชัดไม่ได้แม้จะอยู่ในระยะชัดที่กล้องทำงานได้ก็ตาม ต้องใจเย็นปรับระยะชัดของภาพให้ได้จริงๆ จากนั้นจัดองค์ประกอบแล้วกดชัตเตอร์ อย่ากดชัตเตอร์หากภาพไม่ชัดเพียงพอ เนื่องจากการถ่ายภาพใกล้ความชัดลึกจะต่ำมาก หากปรับระยะชัดพลาด ภาพจะไม่ชัดทันที และไม่ควรใช้ระบบสมดุลสีของแสงแบบ Auto ภาพจะมีสีผิดเพี้ยนได้ง่ายเมื่อถ่ายภาพมาโคร

การถือกล้องต้องนิ่งและรักษาระยะห่างระหว่างกล้องกับวัตถุให้คงที่มากที่สุด หากระยะเปลี่ยนภาพจะไม่ชัดทันที ต้องปรับระยะชัดใหม่ การใช้ขาตั้งกล้องจะช่วยให้ภาพคมชัดดีกว่า

10. ถ่ายภาพต่อเนื่อง

ในการถ่ายภาพเคลื่อนไหวเร็วๆ ให้ได้จังหวะตามที่ต้องการ สำหรับกล้องดิจิตอลคอมแพคอาจจะเป็นเรื่องน่าหนักใจพอสมควร โดยปกติเรามักจะกดชัตเตอร์ในจังหวะที่ดีที่สุด และหวังว่าจะได้ภาพในจังหวะที่กดชัตเตอร์ออกมา แต่สำหรับกล้องดิจิตอลแบบคอมแพคมักไม่เป็นเช่นนั้น กล้องดิจิตอลแบบคอมแพคมีช่วงระยะเวลานับตั้งแต่ผู้ใช้กดชัตเตอร์ไปจนสุดถึงเวลาที่บันทึกภาพจริงๆ นานพอสมควร หากผู้ใช้กดชัตเตอร์ในจังหวะที่พอดีที่สุด ภาพที่ได้มักจะเลยจังหวะนั้นไปไกล เราเรียกเวลาที่เหลื่อมกันตั้งแต่กดชัตเตอร์จนสุดถึงช่วงที่กล้องบันทึกภาพว่า Time Lag


ในการถ่ายภาพเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ผู้ใช้จึงต้องทำการปรับตั้งกล้องเอาไว้ให้เรียบร้อยก่อน ทั้งโฟกัส ค่าแสง และเมื่อถึงเวลาที่วัตถุใกล้จะเข้าไปยังตำแหน่งที่ต้องการให้ถ่ายภาพต่อเนื่องเอาไว้ จะได้ภาพหลายๆ ภาพมาเลือกภาพที่ดีที่สุดในภายหลัง ขั้นตอนมีดังนี้

1. ปรับตั้งระบบถ่ายภาพไปที่ A, S, P หรือระบบที่ต้องการใช้งาน
2. ตั้งระบบถ่ายภาพต่อเนื่องเอาไว้ที่ Continue
3. ทำการปรับระยะชัดและค่าแสงเอาไว้ล่วงหน้า ต้องการให้วัตถุอยู่ที่ตำแหน่งใด ให้โฟกัสล่วงหน้าและล็อคระยะชัด รวมทั้งค่าแสงเอาไว้ก่อน (โดยการกดชัตเตอร์ลงไปครึ่งหนึ่งค้างเอาไว้ ส่วนค่าแสง ถ้าอยู่ในระบบปรับตั้งเอง M ให้ตั้งชัตเตอร์และช่องรับแสงรอเอาไว้เลย แต่ถ้าอยู่ในระบบอัตโนมัติทั้งหมด ให้ล็อคค่าแสงโดยการกดปุ่มกดชัตเตอร์ครึ่งหนึ่งกล้องจะล็อคค่าแสงพร้อมความชัด)
4. เมื่อวัตถุเข้าใกล้ระยะหรือตำแหน่งที่ต้องการ ให้กดชัตเตอร์เพื่อบันทึกภาพค้างเอาไว้ (เวลาที่กดชัตเตอร์ล่วงหน้าขึ้นกับ Time Lag ของกล้อง)
5. ให้หยุดบันทึกภาพเมื่อวัตถุออกนอกตำแหน่งที่ต้องการแล้ว

การถ่ายภาพต่อเนื่องเพื่อให้ได้จังหวะภาพที่ต้องการ ต้องอาศัยการฝึกฝนและความเข้าใจในตัวกล้องพอสมควร จึงควรฝึกบ่อยๆ (ไม่ต้องกลัวเปลืองฟิล์มอยู่แล้ว)

11. เลือกใช้ White Balance ให้เหมาะกับภาพ

หลายครั้งที่มือใหม่ถ่ายภาพออกมาแล้วมีมีสันไม่ถูกใจ แล้วก็ไม่สามารถบอกได้ว่าไม่ถูกใจอย่างไร รวมถึงหาสาเหตุที่ภาพออกมามีสีสันไม่ได้ดังใจไม่ได้ บางภาพสีผิดเพี้ยน บางภาพสีซีดๆ โดยเฉพาะกับภาพดอกไม้สีสดๆ สีม่วงเข้ม สีชมพู ภาพพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก ภาพยามเช้าและเย็น ภาพใต้แสงไฟทังสเตน ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการที่ผู้ใช้กล้องดิจิตอลส่วนใหญ่จะปรับตั้งระบบสมดุลสีของแสงเอาไว้ที่ Auto ซึ่งกล้องจะทำการปรับแก้สีภาพอัตโนมัติ ระบบสมดุลสีแบบ Auto จะใช้งานได้ดีต่อในภาพนั้นมีส่วนขาวที่เป็นขาวอย่างแท้จริงอยู่ด้วย หากภาพไม่มีส่วนขาวอยู่เลยมักจะเกิดสีผิดเพี้ยนเพราะ AutoWB ทำงานผิดพลาด จะเห็นได้จากภาพช่วงพระอาทิตย์ขึ้นหรือตกจะมีสีไม่แดงสด สีมักจะซีดๆ ไม่เหมือนตาเห็น

มีข้อแนะนำง่ายๆ ในการใช้ระบบ White Balance เพื่อให้ได้ภาพที่ดีคือ


1. หากต้องการแก้สีของภาพให้ขาวเป็นขาว แม้ว่าแสงที่ใช้จะมีสีไม่ขาวจริงก็ตาม แนะนำให้ใช้ระบบ WB แบบ Auto

2. ถ้าต้องการบรรยากาศของสีและแสงความความเป็นจริง แนะนำให้ใช้ค่า WB แบบ Daylight ที่เป็นรูปดวงอาทิตย์จะได้บรรยากาศสมจริงมากกว่า

3. ถ้าถ่ายภาพวัตถุที่มีสีสันจัดจ้าน แม่แต่วัตถุสีในภาพ และไม่มีส่วนสีขาวในภาพ แนะนำให้ใช้ระบบ WB แบบ Daylight จะได้ภาพที่มีสีสันดีกว่า หากใช้ระบบ Auto มักได้ภาพที่มีสีสันผิดเพี้ยน

4. หากต้องการแก้สีของแสงให้เป็นขาวเหมือนแสงกลางวันจริงๆ แนะนำให้เลือกแหล่งค่า WB ตามแหล่งกำเนิดแสงที่ใช้ จะทำงานได้ดีกว่าระบบ Auto

***
หมดแล้วครับ ... ที่เหลือก็คือการทำความเข้าใจ ฝึกฝน ให้เกิดความชำนาญ ... ขอขอบคุณเจ้าของบทความอีกครั้งครับ ...

ไม่มีความคิดเห็น :