Smile Cycling

ฝันเล็กๆ ในการเดินทางท่องเที่ยวด้วยจักรยาน

รับพระราชทานเข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิต ครบ 36 ครั้ง

1 ความคิดเห็น
เข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิต ครบ 36 ครั้ง และลำดับเลขที่
ภาพจาก http://blood.redcross.or.th/news/information/737

ภาพจาก http://blood.redcross.or.th/news/information/737

ภาพจาก http://blood.redcross.or.th/news/information/737

ภาพจาก http://blood.redcross.or.th/news/information/737

     ผ่านไปด้วยความปลื้มปิติ เมื่อมีโอกาสได้เข้ารับพระราชทานเข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิต ครบ 36 ครั้ง จากพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อ 23 กย. 2557 ณ ห้องสมิหลา แกรนด์บอลรูม โรงแรม บีพี สมิหลา บีชโฮเต็ล แอนด์รีสอร์ท อ.เมือง จ.สงขลา
****************************************
เนื้อหาข่าว
======

     วันที่ 23 กันยายน 2557 เวลา 14.01 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปยัง ห้องสมิหลา แกรนด์ บอลรูม โรงแรม บีพี สมิหลา บีช โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ในการพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1เหรียญกาชาดสดุดี ชั้นที่ 1ประกาศเกียรติคุณ และเข็มที่ระลึกแก่ผู้บริจาคโลหิตครบ 36 ครั้งและ 108 ครั้ง ของเหล่ากาชาดจังหวัดภาค 11และภาค 12 รวม 14 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 877 ราย ทั้งนี้ เพื่อแสดงความขอบคุณผู้บริจาคโลหิตมีความเสียสละอย่างสูง บริจาคโลหิตโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ และยกย่องเชิดชูเกียรติแก่หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการบริจาคโลหิต 

     นับตั้งแต่สภากาชาดไทย ได้เริ่มงานบริการโลหิตเมื่อปีพุทธศักราช 2495 มีภารกิจหลักในการจัดหาโลหิตให้มีปริมาณเพียงพอ มีคุณภาพปลอดภัยสูงสุดสำหรับผู้ป่วยทั่วประเทศ ปัจจุบัน มีเป้าหมายการจัดหาโลหิตทั่วประเทศ ปีละ 1,950,000 ยูนิต โดยมี ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ดำเนินการจัดหาโลหิตในส่วนกลาง คือ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ให้ได้ ปีละ 600,000 ยูนิต ส่วนภาคบริการโลหิตแห่งชาติ สาขาบริการโลหิตโรงพยาบาลประจำจังหวัด ต้องจัดหาโลหิตให้ได้ ปีละ 1,350,000 ยูนิต ในแต่ละปี มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคโลหิตเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันยังมีความต้องการโลหิตเพิ่มมากขึ้น ปีละ 8-10% จึงต้องมีการรณรงค์ให้มีการบริจาคโลหิตอย่างต่อเนื่องทุก 3 เดือนหรือ ปีละ 4 ครั้ง เพื่อให้มีปริมาณที่โลหิตเพียงพอสำหรับผู้ป่วยทั่วประเทศ


     ในการนี้ มีผู้เข้ารับพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1 เหรียญกาชาดสดุดี ชั้นที่ 1 ประกาศเกียรติคุณ เข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิตครบ 36 ครั้ง และ 108 ครั้ง ของเหล่ากาชาดจังหวัดภาค 11 และภาค 12 ประจำปี 2555-2556 ของเหล่ากาชาดจังหวัดภาค 11 ได้แก่ กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ระนอง และสุราษฎร์ธานี และ เหล่ากาชาดจังหวัดภาค 12 ได้แก่ สงขลา พัทลุง ตรัง นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสตูล รวม 14 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 877 ราย ดังนี้

1. พระภิกษุ เข้ารับประราชทานเข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิตครบ 36 ครั้ง จำนวน 11 รูป และเข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิตครบ 108 ครั้ง จำนวน 1 รูป

2. ผู้บริจาคโลหิต รับพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1 จำนวน 32 ราย

3. ผู้บริจาคโลหิต รับพระราชทานเข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิต 108 ครั้ง และ 36 ครั้ง จำนวน 757 ราย

4. ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกเหล่ากาชาดจังหวัด ซึ่งปฏิบัติงานให้แก่สภากาชาดไทย ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายโดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ตอบแทน นับรวมเวลาไม่น้อยกว่า 25 ปี รับพระราชทานเหรียญกาชาดเหรียญกาชาดสดุดี ชั้นที่ 1 จำนวน18 ราย

5. ผู้แทนสถาบันต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนการบริจาคโลหิต รับพระราชทานประกาศเกียรติคุณ จำนวน58 ราย

จากนั้น ทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้ารับพระราชทานเข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิตฯ และทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับผู้บริหารสภากาชาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายกเหล่ากาชาดจังหวัดภาค 11 และภาค 12 และกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดสงขลา
มาบริจาคโลหิตกันเถอะ
****************************************

     เริ่มตื่นเต้นตั้งแต่ได้รับข้อความทางโทรศัพท์มือถือ จากคลังเลือด รพ.มอ. เมื่อ 22 สิงหาคม 2557 บอกว่า "คุณมีสิทธิ์เข้ารับพระราชทานเข็มฯ ครั้งที่ 36 ช่วงประมาณวันที่ 23-25 กย. 57 นี้ ..."
     สิ่งแรกที่ต้องทำคือ "ยืนยันสิทธิ์" และทำความเข้าใจถึงขั้นตอนการเตรียมตัวเข้ารับพระราชทานเข็มฯ ในครั้งนี้
ข้อมูลการเตรียมความพร้อม

     มาตื่นเต้นอีกครั้งเมื่อ 15 กย. 57 เมื่อได้รับข้อความอีกครั้งแจ้งวันที่ที่รับพระราชทานฯ 23 กย. 57 และที่สุดของความตื่นเต้นเมื่อทราบว่า"สมเด็จพระเทพฯ" ทรงเสด็จมาพระราชทานด้วยพระองค์เอง ... อันนี้เป็นที่สุดของที่สุดเลย ในชีวิตนี้ได้เข้าเฝ้ารับเสด็จและรับพระราชทาน จากโอรส-ธิดา 2 พระองค์ (ต้นปี 50 รับพระราชทานปริญญาบัตร มสธ. จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ)

เข้าคิวจองภาพถ่ายพระราชทานฯ

     เมื่อถึงวันที่ 23 กันยายน 2557 ตื่นแต่เช้ากว่าปกติ ออกจากบ้านที่หาดใหญ่ ตั้งแต่ 7 โมงเช้า เพราะต้องไปให้ถึงสถานที่ลงทะเบียนก่อน 8.30 น. ด้วยระยะทาง 30 กม. ในเวลาประมาณนี้น่าจะไปทันกำหนดโดยไม่มีปัญหา ... แต่สิ่งที่ลืมนึกถึงหรือคิดผิด 2 เรื่อง
  1. รถติด เนื่องจากช่วงบ่ายนี้จะมีพระราชทานปริญญาบัตร ม.ทักษิณ ซึ่งเป็นทางผ่าน และเป็นวันทำบุญสารทเดือน 10 หนหลัง
  2. น้ำมันรถ ตั้งใจแวะเติมที่ขับรถผ่าน (ผมเติม E85) พอถึงปั๊มคิวยาว

     ทั้ง 2 กรณีทำเอาเครียดไปพอสมควร แต่ก็ไปถึงเวลาที่กำหนดพอดี (และมีคนมาสายเยอะเลย)


      ลงทะเบียน+จองรูป+รับอาหารกล่อง ... ก็มีโอกาสได้ถ่ายรูปกับครอบครัวที่ไปร่วมแสดงความยินดีและรอรับเสด็จด้วย ไปกัน 3 คน (ขาดลูกชายที่ไปเรียนต่างจังหวัด) ได้เจอผู้ใจบุญมากมายจาก 14 จว. ภาคใต้ ตอนแรกๆ คิดว่าเฉพาะจังหวัดสงขลาเท่านั้น




      ประมาณ 10 โมงเช้า ก็เข้าห้องประชุมใหญ่เพื่อซักซ้อมขั้นตอนและเตรียมรับเสด็จในเวลาประมาณ บ่ายโมงครึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาถึ่งและเริ่มพิธีพระราชทานฯ ประมาณบ่าย 2 โมง เสร็จพิธีประมาณบ่าย 3 โมง เสด็จไปพระราชทานปริญญาบัตรที่ ม.ทักษิณ เป็นลำดับต่อไป


     ที่สุดของความปราบปลื้ม หลังพระราชทานเข็มสุดท้ายแล้ว ทรงดำรัสว่า... "ขอขอบคุณทุกคนที่สละโลหิตใหกับสภากาชาดไทย เพื่อช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย..." แค่นี้ก็สุดซึ้งแล้ว อย่าว่าแค่รอเสด็จ ๖ ชม. เลย เป็นวันๆ ก็รอได้


     ในตอนลงทะเบียน แต่ละคนได้โบว์และหมายเลขที่ต่างกัน หรือ สีเหมือนกัน หมายเลขตรงกัน แต่ต่างจังหวัดกัน ทำให้เกิดข้อสงสัยหลายๆ ประเด็น เสร็จจากพระราชพิธีฯ กลับบ้านค้นหาข้อมูลขั้นต้นได้ดังนี้
  • เหล่ากาชาดจังหวัดภาคฯ
  • ประเภทเข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิต
    เหล่ากาชาดจังหวัดภาค ในภาคใต้ 14 จว. แบ่งเป็น ภาค 11, ภาค 12
  • ภาค 11 ประกอบด้วยจังหวัด กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ระนอง และสุราษฎร์ธานี
  • ภาค 12 ประกอบด้วยจังหวัด สงขลา พัทลุง ตรัง นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสตูล


     เข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิต
     - เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณและยกย่องสรรเสริญผู้บริจาคโลหิต ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ได้จัดทำเข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิตขึ้นเพื่อมอบให้ผู้บริจาคโลหิตโดยจัดทำเป็นเข็มที่ระลึกตามจำนวนครั้งที่  1,7,16,24,36,48,60,72,84,96 และ 108  ตามลำดับ  

     เหรียญกาชาดสมนาคุณ
     - สำหรับผู้บริจาคโลหิตครบ 50,75 และ 100 ครั้ง จะได้รับพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 3, 2  และ 1 ตามลำดับ


     พัดกาชาดสมนาคุณ 
     - สำหรับพระภิกษุ สามเณร จะได้รับพระราชทานพัดกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 3, 2  และ 1 ตามลำดับ   
*** ข้อมูล เหรียญกาชาดฯ http://th.wikipedia.org/wiki/ ***
     ย้อนกลับไปถึงเหรียญที่ระลึกที่เคยรับมาแล้ว 6 เข็ม คือ เข็มที่ 1, 7, 16, 24 และล่าสุด เข็มที่ 36 ส่วนเข็มที่ 6 เป็นเข็มพิเศษครบรอบ 72 พรรษา สมเด็จพระบรมราชินีนารถฯ 2547 ... พอกลับไปค้นๆ ดูหาเช็มที่ 1 และ 7 ไม่เจอ คงเป็นเพราะสมัยนั้นไม่ค่อยใส่ใจเรื่องแบบนี้สักเท่าไหร่






     ผมเริ่มบริจาคต่อเนื่องเมื่อปี 2540 จนถึงปัจจุบัน (กย.57) รวม 44 ครั้ง หากนับครั้งแรกจริงๆ ครั้งเป็นทหารเกณฑ์ สังกัด นาวิกโยธิน เมื่อปี 2528 ที่ รร.พลทหารฯ ยังไม่รู้เหมือนกันว่าสูงสุดจะไปได้ถึงเข็มที่เท่าใหร่ แต่ก็จะพยายามไปให้ไกลได้มากที่สุด

การรับพระราชทานฯ อีกครั้งสำหรับคนที่ครบ 108 ครั้ง ซึ่งผมนั่งคิดๆๆๆๆ ดูต้องใช้เวลาถึง 17 ปี (กรณีปกติปีละ 4 ครั้ง)

แต่ดูตามคุณสมบัติผู้บริจาคโลหิตแล้ว
- อายุ 61-65 ปีละ 3 ครั้ง (15 ครั้ง)
- อายุ 66-70 ปีละ 2 ครั้ง (10 ครั้ง)

    สรุป หลัง 60 ปีไปแล้ว บริจาคได้เพียง 25 ครั้ง (สุขภาพต้องดีด้วย) ... ที่เหลืออีก 8 ปีก่อน 60 ก็จะบริจาคได้สูงสุด 32 ครั้ง ... รวมๆคาดว่าจะบริจาคได้อีก 57 ครั้ง ของเดิม 44 ก็จะเป็น 101 ...

     ซึ่งใช่ว่าจะง่ายแบบคิดกับเครื่องคิดเลข เพราะมีปัญหาอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างเช่นมีพี่ที่ทำงานติดอยู่ที่ 102 มาเป็นปี เหตุเพราะวัดความดันแล้วไม่ผ่าน ขณะที่อายุ 55-56 ปีเอง
   
---------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระราชดำรัส
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
พระบรมราชูปถัมภก

               พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  ทรงมีพระราชดำรัสชมเชยการบริจาคโลหิต
ว่าเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่  ได้ช่วยให้คนรอดตายไว้ได้มาก  แม้มีเงินก็ช่วยอะไรไม่ได้  หากไม่มี
คนใจกุศลเช่นนี้  การบริจาคโลหิตดูโดนเผินๆก็น่ากลัวอันตราย แต่ที่จริงแล้วไม่มีอันตราย                              
มีแต่ประโยชน์แก่ผู้ให้และผู้รับ
"ให้ช่วยกันบริจาคโลหิตเป็นประจำ
ไม่ใช่เพียงแค่บริจาคเฉพาะครั้งนี้"

พระราชทานเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2507
ณ ศาลาผกาภิรมย์ พระราชวังดุสิต
---------------------------------------------------------------------------------------------------------


แถมด้วยเกล็ดสาระเล็กๆ น้อยๆ
  • คนเลือดกรุ๊ป O รับได้จาก O เท่านั้น แต่ให้กับกรุ๊ปอื่นได้ทุก กรุ๊ป
  • คนเลือดกรุ๊ป AB รับได้จากทุกกรุ๊ป แต่ให้เลือดแก่ผู้อื่นได้เฉพาะคนที่เป็นเลือดกรุ๊ป AB
  • คนเลือดกรุ๊ป A รับจาก A, O ให้ได้กับ A, AB
  • คนเลือดกรุ๊ป B รับได้จาก B, O ให้ได้กับ B, AB
  • คนเลือดกรุ๊ป Rh- ต้องรับจาก Rh- เท่านั้น

สีประจำเเต่ละกรุ๊ปเลือดนะครับ ... ตามบัตรผู้บริจาคเลย
  • A- สีเหลือง
  • B- สีชมพู
  • AB-สีขาว
  • O- สีฟ้า


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
- ภาพข่าวฯ จากสภากาชาดไทย เมื่อ 23 กย. 57
คุณสมบัติผู้บริจาคโลหิต
มาบริจาคโลหิตกันเถอะ

1 ความคิดเห็น :

ตรวจเอชไอวีด้วยตัวเอง กล่าวว่า...

การบริจากเลือด ได้บุญเยอะนะคะ